ดาวประหลาด กระพริบเป็นนาที
เมื่อไม่นานมานี้ นักดาราศาสตร์จากศูนย์ดาราศาสตร์วิทยุนานาชาติ (ICRAR) ได้ค้นพบวัตถุใหม่ในดาราศาสตร์ที่อาจเป็นงานชิ้นยากชิ้นหนึ่งที่ต้องหาคำตอบกันอีกว่าวัตถุชิ้นนี้คืออะไร
วัตถุชิ้นนี้อยู่ห่างจากโลกประมาณ 4,000 ปีแสง ในทิศทางของกลุ่มดาวฉากไม้ เป็นแหล่งกำเนิดคลื่นแบบจุดคล้ายกับดาวฤกษ์ แผ่รังสีในช่วงคลื่นวิทยุรุนแรงและเป็นคาบ คาบยาวประมาณ 18 นาที ในแต่ละครั้งจะยาวตั้งแต่ครึ่งวินาทีจนเกือบนาที บางครั้งการแผ่รังสีเป็นคาบก็ขาดหายไปสักช่วงระยะเวลาหนึ่งและก็จะกลับมาอีกครั้งด้วยคาบเดิมแต่จังหวะอาจเหลื่อมกัน ซึ่งการแผ่รังสีประหลาดเช่นนี้จะปรากฏขึ้นเพียงแค่สามเดือนเท่านั้น และหายไปไม่แผ่ออกมาอีกเลย เหตุการณ์ประหลาดแบบนี้นักดาราศาสตร์ได้ให้ชื่อเรียกวัตถุประเภทนี้ไว้ก่อนว่า วัตถุเปล่งระยะสั้นคาบยาว (long period transient)
เป็นเรื่องแปลกใหม่ในกลุ่มนักดาราศาสตร์ที่ได้พบวัตถุที่เป็นแสงระยะสั้นที่มีคาบเป็นนาทีอย่างวัตถุที่เพิ่งพบครั้งนี้ โดยเดิมทีแล้วนักดาราศาสตร์นั้นรู้จักวัตถุเปล่งแสงระยะสั้น (transient) หลายชนิด อย่างเช่น พัลซาร์ วัตถุเปล่งแสงระยะสั้นแต่เป็นชนิดคาบสั้น มีคาบการเปล่งแสงสั้นในระดับวินาทีหรืออาจไม่ถึงวินาที หรือวัตถุเปล่งแสงระยะสั้นบางชนิดส่องสว่างเพียงรอบเดียวไม่ใช่เป็นรายคาบ เช่น ซูเปอร์โนวา ซึ่งส่องแสงสว่างเป็นระยะเวลานานหลายวันหรืออาจยาวไปถึงหลายเดือน
โดยข้อมูลจากการสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่าวัตถุดวงนี้มีสนามแม่เหล็กที่เข้มข้น และคลื่นวิทยุที่แผ่ออกมาเกิดโพลาไรเซชันอย่างเด่นชัด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ว่าจะเป็นพัลซาร์ธรรมดา เนื่องจากการส่งพัลส์เกิดขึ้นจากการหมุนรอบตัวเองของดาวนิวตรอน เมื่อดาวนิวตรอนหมุนไปในแต่ละรอบขั้วของดาวจะกวาดไปในอวกาศ ลำของรังสีที่พุ่งออกมาตามแนวขั้วและเมื่อกวาดชี้มายังโลก กล้องโทรทัศน์บนโลกก็จะตรวจจับสัญญาณได้เป็นห้วงที่มีคาบคงที่หรือค่อนข้างคงที่
อีกคำอธิบายหนึ่งคือวัตถุนี้อาจเป็นดาวแม่เหล็ก หรือ แมกนีตาร์ ที่มีคาบยาวเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นดาวนิวตรอนชนิดหนึ่งที่มีสนามแม่เหล็กที่เข้มข้นมาก และการหมุนรอบตัวเองของดาวแม่เหล็กส่วนใหญ่นั้นจะเป็นการหมุนรอบตัวเองที่เร็วพอๆกับพัลซาร์ทั่วไป แต่การหมุนรอบตัวเองช้าลงนั้น เกิดขึ่้นจากสนามแม่เหล็กของดาวแม่เหล็กอาจทำอันตรกิริยากับไอออนรอบๆด้วย และการหมุนรอบตัวเองช้าลงจนกลายเป็นพัลซาร์ชนิดคาบยาว แต่ดาวแม่เหล็กคาบยาวนั้นหากมีจริงก็ไม่คาดว่าจะสว่างขนาดนี้และควรมีคาบที่คงที่ ซึ่งวัตถุชนิดนี้สว่างมากและมีคาบที่ไม่คงที่ จึงทำให้ทฤษฎีนี้เป็นปัญหาที่นักดาราศาตร์ต่างหาคำตอบกันต่อไป
หรือวัตถุนี้อาจเป็นประเภทอื่น อย่างเช่นหลุมดำที่เพิ่งเกิดใหม่ หรืออาจเป็นดาวควาร์กที่เคยมีแต่ในทฤษฎี แต่การที่มีวัตถุเพียงดวงเดียวให้ได้ศึกษานั้น อาจไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นอะไร เช่นนั้นนักดาราศาสตร์จึงต้องค้นคว้าหาวัตถุประเภทนี้ต่อไปเพื่อไขข้อข้องใจในเรื่องนี้ และอาจต้องอาศัยกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังแรงสูงกว่าที่มีอยู่ในตอนนี้ หรือบางทีอาจต้องอาศัยกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง กล้องโทรทรรศน์ เอสเคเอ (SKA-Square Kilometre Array) ซึ่งกำลังจะเข้าประจำการในทศวรรษหน้า