ประโยชน์ของผักปลอดสารพิษ
ผักหรือผลผลิตของพืชที่ไม่มีสารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชตกค้างอยู่ หรืออาจมีแต่อยู่ในระดับที่ไม่เกินมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ โดยจะมีหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองให้ว่าไม่มีสารเคมีตกค้างที่เกินกว่ากำหนด หรือเรียกว่าเป็น “ผักปลอดสารพิษ” เพื่อทำให้ผู้บริโภคเกิดความสบายใจได้ว่าผักที่รับประทานเข้าไปนั้นมีความปลอดภัยต่อร่างกาย
ในอีกความหมาย ผักปลอดสารผิดนั่นคือผักที่ปลอดสารพิษในช่วงตอนเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่ไม่ได้ปลอดการใช้สารเคมีในช่วงระหว่างการเพาะปลูก ซึ่งแท้จริงแล้วควรจะเป็นผักทั่วไปที่ผู้บริโภคหาซื้อมาบริโภคตามท้องตลาดทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้วผักที่วางขายตามท้องตลาดในปัจจุบันนั้น ส่วนมากจะเป็นผักที่มีสารพิษเกินค่ามาตรฐานอยู่ เนื่องจากบางแห่งนั้นได้มีการฉีดยาฆ่าแมลงก่อนที่จะเก็บเกี่ยวพืชผลผลิต อย่างเช่น ผักคะน้า ผักชี มะเขือพวง ต้นหอม พริกสด ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง หัวไชเท้า กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ แตงกวา และอีกมากมาย ซึ่งผักเหล่านี้เป็นตัวอย่างผักที่พบสารพิษตกค้างในปริมาณที่เกินมาตรฐานอยู่
สารพิษตกค้างนั้นจะเป็นสารเคมีที่ใช้ป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชหรือสัตว์ต่างๆ หรือกลุ่มอนุพันธ์ของสารเคมีดังกล่าวนั้นได้แก่ สารในกระบวนการเปลี่ยนแปลง (conversion products), สารที่เกิดจากปฏิกิริยา (reaction products), สารในกระบวนการสร้างและสลาย (metabolites) หรือสิ่งปลอมปนที่เป็นพิษซึ่งปนเปื้อนและตกค้างในอาหาร
ทั้งนี้ผักปลอดสารพิษกับผักออแกนิกนั้นไม่ใช่ประเภทเดียวกัน เนื่องจากผักออกแกนิกนัั้นมีกระบวนการผลิตที่ต่างออกไปคือเป็นการปลูกผักที่มีความเป็นธรรมชาติสูงมาก เพราะในกระบวนการเพาะปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวนั้น จะไม่มีการใช้สารเคมีใดๆเลย และผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งเป็นการปลูกที่ไม่ใช้ดินหรือเป็นการปลูกผักในน้ำที่มีสารอาหารพืชละลายอยู่ในน้ำ
ประโยชน์ของผักปลอดสารพิษ
– ทำให้ได้ผักที่มีคุณภาพ ไม่มีสารพิษตกค้าง เพื่อเกิดความปลอดภัยของผู้บริโภค
– ช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี มีความแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หากบริโภคผักที่ปลอดสารพิษในปริมาณที่เหมาะสมเป็นประจำ
– ช่วยให้เกษตรกรที่ปลูกผักปลอดสารพิษมีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น เมื่อไม่มีการพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช
– ช่วยลดปริมาณการนำเข้าสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชจากต่างประเทศ
– ช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรในด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างเช่น ค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมีป้องกันแมลงและศัตรูพืชที่ลดลง
– เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกผักปลอดสารพิษ เนื่องจากได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ทำให้ขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น
– ช่วยลดปริมาณของสารเคมี ซึ่งเป็นพิษที่จะปนเปื้อนในดิน อากาศ และน้ำ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติและลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง
ผักปลอดสารพิษนั้นยังให้ประโยชน์อีกมากมาย ทั้งในกลุ่มผู้บริโภค และผู้ผลิต แถมยังช่วยให้สุขภาพดี ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นผลดีต่อผู้บริโภคที่ชอบรับประทานผักที่ต้องการความปลอดภัย
นอกจากนี้ แม้ว่าผักปลอดสารพิษจะเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งของผู้บริโภคแล้ว แต่หากผู้บริโภคยังไม่มั่นใจแนะนำให้ก่อนบริโภคนั้นนำผักมาล้างน้ำให้สะอาดอย่างถูกวิธี ซึ่งมีมากมายหลายวิธี อย่างเช่น ล้างด้วยน้ำไหลจากก๊อกนาน 2 นาที หรือการแช่ในน้ำสะอาดประมาณ 5-10 นาที แล้วค่อยนำมาล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือการแช่ในน้ำส้มสายชู น้ำปูนใส น้ำด่างทับทิม น้ำซาวข้าวหรือเกลือป่น ประมาณ 10 นาที จากนั้นค่อยล้างออกด้วยน้ำสะอาด เป็นต้น