แสงเหนือ แสงใต้ ความมหัศจรรย์ของฟากฟ้า
หลายคนคงเคยได้ยินหรือมีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า แสงขั้วโลก (Aurora Polaris) ซึ่งเป็นแสงที่สวยงามเรืองรองสะท้อนอยู่บนท้องฟ้าของประเทศแถบขั้วโลก ซึ่งแสงขั้วโลกนี้ได้ถูกขนานนามว่าเป็น การเต้นรำของแสงสี (The Bright of Dancing Light) หรือ การเริงระบำของจิตวิญญาณ (Danc of The Spirits) ซึ่งมีรากศัพท์ภาษาอังกฤษมาจากคำว่า Aurora ซึ่งถูกตั้งขึ้นตามเทพีแห่งรุ่งอรุณของชาวโรมัน (Roman Goddess of Dawn) ซึ่งแสงขั้วโลกนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในแถบขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ และยังสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในคืนที่มืดสนิท
แสงขั้วโลกที่เกิดขึ้นในแถบขั้วโลกเหนือจะเรียกว่า แสงเหนือ (Northern Light หรือ Aurora Borealis) และแสงขั้วโลกที่เกิดในแถบขั้วโลกใต้นั้นจะเรียกว่า แสงใต้ (Southern Light หรือ Aurora Australis) โดยมีงานวิจัยบอกว่า แสงเหนือและแสงใต้นั้นมักเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ซึ่งมีรูปร่างและสีที่เหมือนกัน แต่จะปรากฏเป็นลักษณะของภาพสะท้อนเงากระจกต่อสายตาผู้ที่พบเห็น
โดยชาวยุโรปเหนือในยุคโบราณมีความเชื่อว่าแสงขั้วโลกนี้เกิดจากแสงสะท้อนของชุดเกราะของนักรบโบราณและส่องสว่างขึ้นบนท้องฟ้า ซึ่งในขณะที่ชาวโรมันสมัยก่อนมีความเชื่อที่ว่า แสงขั้วโลกเกิดจากการปรากฏตัวของเทพีแห่งรุ่งอรุณ ซึ่งจะโบยบินผ่านท้องฟ้ายามเช้า เพื่อมาส่งสัญญาณว่า ดวงอาทิตย์กำลังจะขึ้นแล้ว ส่วนชาวอะบอริจินจะมีความเชื่อว่า แสงขั้วโลกเป็นสัญลักษณ์ของไฟ ไม่ว่าจะเป็นไฟจากคบเพลิง หรือจากการก่อกองไฟ ถ้าจะให้เปรียบเทียบตำนานเหล่านี้ ก็คงจะคล้ายปรากฏการณ์ธรรมชาติในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นการที่ฟ้าผ่าเพราะยักษ์รามสูรขว้างขวานใส่ลูกแก้วของนางมณีเมขลา หรือการเกิดจันทรุปราคาเพราะพระราหูนั้นอมดวงจันทร์เอาไว้
อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงนั้น แสงขั้วโลกเกิดจากอนุภาคพลังงานสูงซึ่งถูกปล่อยออกมาจากดวงอาทิตย์ขณะที่กำลังหมุน โดยอนุภาคเหล่านี้เคลื่อนที่มากับลมสุริยะและมุ่งหน้าเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก เนื่องจากสนามแม่เหล็กบนผิวโลกขณะที่อนุภาคเคลื่อนที่ผ่านชั้นบรรยากาศโลกที่ระดับความสูง 80-640 กิโลเมตรจากพื้นดินและจะชนกับโมเลกุลของก๊าซในชั้นบรรยากาศซึ่งได้ปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสงที่ตามนุษย์มองเห็นได้
โดยแสงขั้วโลกนี้จะปรากฏเป็นสีและรูปร่างที่แตกต่างกันไปซึ่งรูปร่างของแสงขั้วโลกนั้นจะขึ้นอยู่กับลักษณะของสนามแม่เหล็กบนผิวโลก และรูปร่างที่พบเห็นกันบ่อยนั้นจะเป็นแสงเรืองรองกระจายอยู่บนท้องฟ้าหรือมีลักษณะเป็นลำแสงที่ชัดเจนมีหน้าตาเหมือนม่านหมอกของละอองแสง ในส่วนสีของแสงขั้วโลกจะขึ้นอยู่กับความสูงที่เกิดการชนกันของอนุภาคจากดวงอาทิตย์และโมเลกุลของก๊าซในชั้นบรรยากาศโลกซึ่งรวมไปถึงชนิดของก๊าซนั้นๆด้วย
ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า แสงขั้วโลกไม่ได้มีเฉพาะบนโลกเพียงเท่านั้น แต่อาจพบได้ในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงอื่นๆที่มีสนามแม่เหล็กด้วยเช่นกัน และนอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า แสงขั้วโลกนั้นมีเสียงด้วย แต่เรื่องนี้ไม่ได้มีการยืนยันอย่างชัดเจนจนกระทั่งในปี ค.ศ. 2012 นักวิทยาศาสตร์ชาวฟินแลนด์ได้รายงานว่า สามารถบันทึกเสียงลักษณะคล้ายเสียงปรบมือได้ในขณะที่เกิดแสงขั้วโลกที่ความสูงห่างจากพื้นดินประมาณ 70 เมตร